




นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น บรรยายแก่คณะศึกษาดูงาน นักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมนครเป็งจาล เทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วย รองนายกเทศมนตรี ( นายมนตรี สิงหปุณณภัทร, ดร.อรอนงค์ แสวงการ ), เลขานุการนายกเทศมนตรี ( นายณัฐกร ศรีนวกุล, นายพันศักดิ์ ศรีเรือง ), นายวรินทร์ เอกบุรินทร์ สมาชิกสภาเทศบาล, นางอารี สุรารักษ์ รองปลัดเทศบาล, นายมานพ ช่องตะคุ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา, นางปริญดา เอียสกุล ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม, นายศรันย์ เปานาเรียง ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, นางสาวพัชรมณฑ์ นิลกลาง ผู้อำนวยการส่วนบริหารการศึกษา, ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น และพนักงานเทศบาลนครขอนแก่นร่วมให้การต้อนรับ คณะศึกษาดูงาน คณะนักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ ( นบส.ศธ. ) รุ่นที่ 13 นำโดย วิทยากรที่ปรึกษาประจำโครงการ นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และ นายสุเมธ แสงนิ่มนวล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมคณะนักบริหารฯ จำนวน 51 คน เข้าร่วมศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการศึกษา การบริหารงานวิชาการ และการให้บริการทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้กล่าวต้อนรับและให้การบรรยายในหัวข้อเรื่อง “บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการศึกษา”แก่คณะศึกษาดูงานในครั้งนี้ เทศบาลนครขอนแก่น ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข” โดยมีนโยบายหลัก 4 ด้านคือ 1. นโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและต้นทุนทางสังคม 2. นโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพของเมือง 3.นโยบายด้านการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจมุ่งสู่มหานคร 4.นโยบายด้านการพัฒนาขีดความสามารถของการบริหารจัดการท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม สำหรับแผนพัฒนาการศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น มิวิสัยทัศน์ “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สู่มาตรฐานการศึกษาอย่างเป็นสุขและยั่งยืน ” ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการบริหารการศึกษา 2. การสร้างโอกาส ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการเข้าถึงบริการทางการศึกษา 3. การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.ทำนุบำรุงศาสนา อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 5.การส่งเสริมสนับสนุนกีฬาและสันทนาการ ซึ่งมีหลักคิดในการดำเนินงานด้านการศึกษา คือ การจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้คำว่า "การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพนักเรียนตามบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยมีเป้าหมายร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด คือ การอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นและคิดเป็น, คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 5+1 คือ มิวินัย อดทน มีความรับผิดชอบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญู และสำนึกรักท้องถิ่น, การปลูกฝังทักษะชีวิต, ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้เทศบาลนครขอนแก่น ได้จัดการศึกษาในรูปแบบกลุ่มโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ( The School Cluster Management System ) ซึ่งมีการจัดกลุ่มเพื่อเป็นคลัสเตอร์ทางการศึกษา จำนวน 3 คลัสเตอร์ คือ 1.กลุ่มวิชาการ 2.กลุ่มทักษะกีฬา 3.กลุ่มทักษะชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และมีโครงการด้านการศึกษาที่สำคัญ อาทิ “โครงการพัฒนาระบบการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียน โดย ครู-หมอ-พ่อแม่” เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลขอนแก่น ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียนโดยครู-หมอ-พ่อแม่ เพื่อให้ครูและผู้ปกครองเข้าถึงบริการสุขภาพจิตเด็กได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำเด็กมาโรงพยาบาล เป็นการเชื่อมต่อบริการจากการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเด็กสู่การให้คำปรึกษาและดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม โดยมุ่งหวังให้เด็กกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการได้มากขึ้นและเป็นต้นแบบในการขยายผลไปใช้ต่อในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โครงการ “ห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง” เป็นห้องเรียนคู่ขนาน มีแนวความคิดเพื่อ "พัฒนาศักยภาพเด็กหลังห้อง" เดิมมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้และความต้องการจำเป็นพิเศษ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นปกติได้ มีปัญหาพฤติกรรม ปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่ขาดภูมิคุ้มกันที่ดีจากครอบครัว ซึ่งมักประสบความอ่อนแอทางจิตใจ มีแนวโน้มคล้อยตามพฤติกรรมทางลบ จนไม่สามารถปรับตัวในการเรียนรู้ในระบบ และไม่สามารถร่วมอยู่ในสังคมโรงเรียนได้ตามปกติ จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือพิเศษ โดยใช้ระบบครูที่ปรึกษาชั้นร่วมกับครูแนะแนวและครูปกครอง รวมถึงจัดกิจกรรมพิเศษให้กับนักเรียน ทั้งกิจกรรมในห้องเรียน นอกห้องเรียน และนอกสถานที่ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการดำรงชีวิต การช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น รู้จักแก้ปัญหา มีการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น เป็นต้น โดยหลังการบรรยายได้มีการปรึกษาหารือ ถาม-ตอบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติงานระหว่างกันอีกด้วย ทั้งนี้ เทศบาลนครขอนแก่นมีความยินดีต้อนรับคณะศึกษาดูงานนักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าการศึกษาดูงานครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการปฏิบัติงานระหว่างองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน และเกิดประโยชน์ต่อองค์กรต่อไป