หลักการและเหตุผล
ปัญหาการเรียนเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมไทยให้ความใส่ใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากการรายงานสถานการณ์ IQ เด็กไทยพบว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย ทำให้เกิดความตื่นตัวในการดูแลเรื่องสติปัญญา IQ รวมไปถึง EQ ของเด็กมากขึ้นด้วย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการเรียนมีหลากหลาย ทั้งจากปัญหาการดูแลครอบครัว คุณภาพการสอน รวมถึงปัจจัยตัวเด็กเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคจิตเวชเด็ก ที่ส่งผลต่อการเรียน ตัวอย่างเช่น โรคสมาธิสั้น ซึ่งพบในเด็กไทย ราวร้อยละ 8 ทำให้เด็กขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่สามารถเรียนได้เต็มที่ตามศักยภาพ, โรคทักษะการเรียนบกพร่อง ซึ่งพบราวร้อยละ 5 ทำให้เด็กมีปัญหาการอ่าน การเขียน หรือการคำนวณ แม้จะพูดคุยสื่อสารรู้เรื่อง, โรคสติปัญญาบกพร่องซึ่งพบร้อยละ 6.1 ในประเทศไทย สูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติประมาณ 3 เท่า ทำให้เด็กเรียนรู้ช้า พัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ โดยรวมแล้ว มีเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่ควรได้รับการดูแลกว่าร้อยละ 20 ในปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการดูแล แม้จะมีการคัดกรองโดยโรงเรียน แต่ไม่ได้รับบริการทางสาธารณสุข เนื่องจากความขาดแคลนบุคลากร และทรัพยากรในการจัดบริการ ทำให้อัตราการเข้าถึงบริการต่ำมาก โดยโรคออทิสติก เป็นโรคที่เข้าถึงบริการมากที่สุด เข้าถึงได้เพียงร้อยละ 12 (เด็กออทิสติก 100 คน ได้รับการดูแลรักษา 12 คน) ส่วนโรคสมาธิสั้น โรคบกพร่องด้านการเรียนเฉพาะด้าน และโรคสติปัญญาบกพร่อง ล้วนเข้าถึงบริการต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้งสิ้น เมื่อเข้าไม่ถึงบริการทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแล เกิดปัญหาการเรียนต่อเนื่อง ไม่สามารถอยู่ในระบบโรงเรียนได้ หรือแม้อยู่ได้ก็ใช้ความสามารถของตนเองไม่เต็มที่ เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมตามมา ซึ่งมักแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรมในวัยรุ่น ทั้งกรณี ตั้งครรภ์วัยรุ่น ยาเสพติด พฤติกรรมเกเร ก้าวร้าวรุนแรง เป็นต้น
สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดกรองนักเรียน เพื่อนำไปสู่การดูแล พัฒนาให้ความช่วยเหลือ การปรับพฤติกรรมในห้องเรียนและการทำหลักสูตรพิเศษรายบุคคล ในกลุ่มที่มีปัญหาการเรียน รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมป้องกัน และการรักษาฟื้นฟู โดยมุ่งหวังให้เด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลรักษา และเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้นเพื่อ ส่งต่อในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้นอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาระบบการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียนโดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรสาธารณสุข ครู และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้ครู และผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการเรียนและปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น สามารถเสริมสร้างทักษะชีวิตแก่เด็กวัยเรียนและมีทักษะในการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่พบในเบื้องต้น เพื่อให้ครู สามารถคัดกรองโรคทางจิตเวชเด็กและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับเด็กที่มีปัญหา การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อพัฒนาระบบการดูแลส่งต่อและส่งกลับเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาการเรียนระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนากลุ่มเครือข่ายครู และผู้ปกครองที่ยั่งยืน
กระบวนการ
- 1. ศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบเครื่องมือ ในการคัดกรองนักเรียน
- 1.1 ศึกษาปัญหาที่เกิดในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นและวิเคราะห์ปัญหา
- 1.2 ประชุม ระดมสมองในการออกแบบเครื่องมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียน
- 1.3 จัดทำเครื่องมือ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ นักจิตวิทยา ครู และโปรแกรมเมอร์ ผู้เขียนโปรแกรม
- 1.4 ทดลองใช้เครื่องมือกับครู ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น
- 1.5 ปรับปรุง พัฒนาเครื่องมือ เพื่อใช้ในการคัดกรองนักเรียน
- 2. อบรมให้ความรู้ครู ในโรงเรียนและ ศพด. สังกัดเทศบาลนครขอนแก่น
- 2.1 ให้ความรู้ในเรื่องการดูแล สังเกตพฤติกรรมเด็ก และการปรับพฤติกรรมเด็ก
- 2.2 ให้ความรู้การใช้เครื่องมือในการคัดกรองนักเรียน
- 3. ครูดำเนินการคัดกรองนักเรียนทุกคน ในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น
- 4. แพทย์ลงพื้นที่ โรงเรียนเพื่อคัดกรองซ้ำ และวินิจฉัยอาการ โดยมีครูประจำชั้นและผู้ปกครองให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อแบ่งกลุ่มในการดูแลช่วยเหลือ
เป้าหมาย
- ครูผู้สอนในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดเทศบาลนครขอนแก่น
- ครูระดับชั้นอนุบาลและครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
- จำนวน 75 คน
- ครูระดับประถมศึกษา
- จำนวน 345 คน
- ครูระดับมัธยมศึกษา
- จำนวน 110 คน
- ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
- จำนวน 20 คน
- รวมทั้งสิ้น 550 คน
วิธีการ/ขั้นตอนการดำเนินการ
- ประชุมวางแผนการทำงานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลเด็กที่มีปัญหา การเรียนโดยครู–หมอ – พ่อแม่ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ประจำปีการศึกษา 2567 เพื่อกำหนดการจัดโครงการแนวทางการดำเนินงาน
- เขียนโครงการฯ เพื่อเสนออนุมัติ
- ประชุมมอบหมายงานตามภารกิจ/หน้าที่กำหนด
- ดำเนินการตามห้วงเวลาที่กำหนด
- ประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงาน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- เด็กวัยเรียนของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นที่มีปัญหาการเรียน ได้รับบริการส่งเสริมทักษะชีวิต ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู ปัญหาสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
- เกิดระบบการคัดกรอง ส่งเสริม ป้องกัน และส่งต่อ เด็กวัยเรียนที่มีปัญหาการเรียนอย่างยั่งยืน
- ครู และผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจในปัญหาการเรียน ปัญหาสุขภาพจิต และมีทักษะ สามารถจัดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของเด็กนักเรียนได้
- เกิดเครือข่ายครู และผู้ปกครอง ที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง
กลุ่มที่ต้องดูแลรักษาโดยแพทย์
- การรักษา
- ครูประจำชั้นและผู้ปกครองรับยาที่โรงพยาบาล ให้เด็ก
- ครูและผู้ปกครองนำเด็กพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามอาการ
- การปรับพฤติกรรม
- หมอให้คำแนะนำครูและผู้ปกครอง ในการปรับพฤติกรรมเด็กในขณะที่ อยู่บ้านและอยู่โรงเรียน
- ครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในการปรับพฤติกรรม ในขณะที่อยู่โรงเรียน
- ผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรม ในขณะที่เด็กอยู่ที่บ้าน
การติดตามประเมินผล
- กลุ่มที่ต้องดูแลรักษาโดยแพทย์
- ติดตามผลโดยครูสังเกตอาการและพฤติกรรมในขณะเด็กอยู่ในโรงเรียน และออกเยี่ยมบ้านสอบถามอาการเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง
- ออกนิเทศติดตามของต้นสังกัด และสังเกตพฤติกรรมเด็กในชั้นเรียน ในขณะที่ออกติดตามเยี่ยมชั้นเรียน
- ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ปกครองที่นำเด็กไปพบแพทย์
- ครูติดตามและกรอกข้อมูลในระบบ App Care ถึงการรักษาต่อเนื่องและไม่รักษาต่อเนื่อง เกิดจากสาเหตุใด เพื่อนำมาวางแผนให้ความช่วยเหลือต่อไป เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านเวลา ปัญหาด้านความเข้าใจ ฯลฯ
- กลุ่มที่ปรับพฤติกรรม
- ติดตามผลโดยครูสังเกตอาการและพฤติกรรมในขณะเด็กอยู่ในโรงเรียน และออกเยี่ยมบ้านสอบถามอาการเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง
- ออกนิเทศติดตามของต้นสังกัด และสังเกตพฤติกรรมเด็กในชั้นเรียน ในขณะที่ออกติดตามเยี่ยมชั้นเรียน
- ครูติดตามและกรอกข้อมูลในระบบ App Care ถึงการรักษาต่อเนื่องและไม่รักษาต่อเนื่อง เกิดจากสาเหตุใด เพื่อนำมาวางแผนให้ความช่วยเหลือต่อไป เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านเวลา ปัญหาด้านความเข้าใจ ฯลฯ