




นายก ขก.บรรยาย “ครูหมอพ่อแม่”แก่ จนท.สาธารณสุข/ศึกษาธิการ วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหัวข้อ "การดำเนินงานโครงการ ครู หมอ พ่อแม่ ความร่วมมือสู่ความยั่งยืนของระบบบริการ สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในเทศบาลนครขอนแก่น" ในโครงการระบบดูแลช่วยนักเรียนกลุ่มเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในโรงเรียน พื้นที่นำร่องจังหวัดขอนแก่น วัยรุ่นติดเกราะ "Mental Health Shield for Youth" โดย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ , ศูนย์สุขภาพจิตที่ 7 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น โดยนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้บรรยายเกี่ยวกับ โครงการ ครู หมอ พ่อแม่ เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นความร่วมมือของ สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโรงพยาบาลขอนแก่น ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียนโดยครู-หมอ-พ่อแม่ ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เพื่อนมีความสุข ห้องเรียนมีความสุข ครอบครัวมีความสุข และสังคมมีความสุข เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ครู และผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการเรียนและปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น สามารถเสริมสร้างทักษะชีวิตแก่เด็กวัยเรียนและมีทักษะในการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่พบในเบื้องต้น สามารถคัดกรองโรคทางจิตเวชเด็กและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง สำหรับ "โครงการระบบดูแลช่วยนักเรียนกลุ่มเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในโรงเรียนพื้นที่นำร่องจังหวัดขอนแก่น วัยรุ่นติดเกราะ Mental Health Shield for Youth" ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตจุดเน้นโรคซึมเศร้าและป้องกันฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งอยู่ในระบบโรงเรียน เนื่องจากในระหว่างปี 2564-2566 นั้น พบการเข้ารับบริการรักษาโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ในโรงพยาบาลเครือข่ายพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในส่วนสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น พบว่ามีสถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นอันดับที่ 1 ที่เข้ารักษาในตึกผู้ป่วยใน โรคซึมเศร้านับว่าเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่การฆ่าตัวตาย จากสถิติของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติพบว่าในปี 2566 ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีกลุ่มวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าพยามฆ่าตัวตายจำนวน 225 คน โดย 193 คน อยู่ในระบบโรงเรียน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3 คน และ 1 ใน 3 คน ดังกล่าวอยู่ในระบบโรงเรียน จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาให้พัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน เชื่อมโยงระบบงานป้องกันและบำบัดรักษาระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และสาธารณสุข โดยกลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรสาธารณสุข สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น , บุคลากรทางการศึกษาสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นและสังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่นเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น จำนวนทั้งสิ้น 180 คน ได้รับสนับสนุนวิทยากรจาก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ โรงพยาบาลขอนแก่น และศูนย์สุขภาพจิตที่ 7